|
หมวดหมู่ > เครื่องเสียงรถยนต์ > บทความเครื่องเสียงรถยนต์ >
ฟังในห้องลองเสียง (ร้าน) ได้เรื่องแค่ไหน
วันที่ : 23/11/2016
ฟังในห้องลองเสียง (ร้าน) ได้เรื่องแค่ไหน โดย...อ. ไมตรี ทรัพย์เอนกสันติ ร้านติดตั้งที่มีมาตรฐานหรือร้านใหญ่หน่อย มักทำห้องลองเสียงไว้ให้ลูกค้าเลือกฟังเปรียบเทียบแต่ละยี่ห้อก่อนตัดสินใจซื้อ ห้องมักมีขนาดใหญ่กว่าในห้องโดยสารของรถจริงๆ ตั้งแต่ 2-3 เท่า บางร้าน ห้องลองเสียงก้องพอสมควรจนฟังจับประเด็นอะไรแทบไม่ได้ ปัญหาที่ห้องลองจะพาหลงทางได้ คือ 1. ตำแหน่งการติดตั้งลำโพงแต่ละคู่ในห้องลอง คู่ที่เสียงแหลมจัด ถ้าวางสูงเลยหูไปมากๆ จะเหมือนไม่จัดมาก ทุ้มอาจดีขึ้นด้วยการสะท้อนจากเพดานและมุมระหว่างเพดานกับผนังตู้ลอง ขณะที่ลำโพงที่เสียงไม่จัด ถ้าอยู่ในตำแหน่งเดียวกันนั้น เสียงจะทึบไปเลย เบสจะอื้ออึง ลำโพงที่ซ้าย, ขวา วางห่างกันเกินไป ตรงกลางโบ๋กลวง เสียงจะบาง ขาดน้ำหนัก ไม่เป็นตัวตน ลำโพงที่อยู่ด้านหน้า ไม่ห่างกันมาก (ซ้ายกับขวา) อยู่พอๆ กับระดับหู เสียงจะเป็นจริงมากที่สุด ดีก็ออกมาดี เลวก็ออกมาเลวเลย สิ่งที่น่าคิด ถ้ากำลังเลือกวิทยุ-CD ไฮเพาเวอร์อยู่ ตำแหน่งของลำโพงที่เปิดลองกับวิทยุนั้น ก็ทำให้หลงทางได้ เกิดวิทยุเสียงจัดจ้าน เบสน้อย ถ้าลองกับลำโพงคู่ที่อยู่สูงสุด ใกล้เพดาน ความจัดจ้านก็ลดลงมาก เบสจะดีขึ้น ก็หลงคิดว่า วิทยุดี ดังนั้น การลองฟังวิทยุ, แอมป์, ฟรอนท์ ควรลองกับลำโพงคู่ที่อยู่ในตำแหน่งที่ เสียงเป็นจริงมากที่สุดดังกล่าวแล้ว (อย่าลืมว่า ยังไงๆ ต้องนั่งฟังตรงกลางให้ได้ ไม่เช่นนั้นหลงทางแน่) 2. ห้องลองที่ใช้ระบบกดสวิตซ์ตัดต่อ, สลับ, เลือกฟังผลิตภัณฑ์แต่ละตัวได้ (บางทีใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวตัดต่อ) แน่นอนว่าจะมีสายไฟ, สายลำโพง, สายสัญญาณ (ภาพและเสียง) นับร้อยเส้น มัดเป็นกระจุกอยู่รวมๆ กันภายในตู้คอนโซลเลือกอุปกรณ์ รวมทั้งสายลำโพงนับร้อยๆ สายที่มัดรวมกัน ลากไปยังตู้ลองท่ีติดตั้งลำโพงเป็นสิบๆ คู่ สายเหล่านี้ ไม่มีร้านไหนสนใจฟัง (ฟังอย่างเดียว) ตรวจสอบทิศทางการเดินสาย ว่าสายไฟ, สายลำโพง, สายสัญญาณ, สายภาพ ควรจะต้องเดินสวนทิศหรือย้อนทิศจึงจะได้มิติเสียงเป็นตัวตน (3 มิติ, มีทรวดทรง) เวทีเสียงกว้างหลุดลอยเป็นลำดับชั้น หรือไม่ระมัดระวังว่าสายต่างๆจะแตะต้องกัน สายลำโพงถ้าแตะสายไฟ มันก็จบ เสียงจะกร้าว, แข้ง, กระด้าง, แบน มิติฟุ้งแบนถ้าด้านซ้ายไม่แตะ, ด้านขวาแตะ มิติเสียงก็ไม่โฟกัส เสียงซ้าย-ขวาจะเหลื่อมๆ กัน หลอกหู ฟังทะแม่งๆ (อย่างที่กล่าง ต้องนั่งฟังตรงกลางเสมอ) สายสัญญาณซ้าย, ขวา ถ้าแตะกันและกัน เสียงก็ขุ่นขึ้น, กอดกันเวลาช่วงโหม ไม่โปร่งโล่ง, พริ้ว ต้องฉีกแยกจากกัน เกิดเพาเวอร์แอมป์ A สายสัญญาณเสียงซ้าย-ขวาฉีกแยก เพาเวอร์แอมป์ B ไม่ฉีก แบบนี้ A ก็ออกมาดีกว่าแน่ (ถ้าลองกับลำโพงที่โฟกัสดีๆ อยู่แล้ว) ตัวสายแต่ละเส้น (ไม่ว่าสายอะไร) ก็ห้ามม้วนทับพันตัวเอง เสียงจะจม, กระด้าง, ทื่อ, ตื้อๆ ต้องคลี่ออก ตัวสะพานเชื่อมสัญญาณ (RELAY) ภายในตู้ลอง เพื่อใช้ตัดต่อสัญญาณต่างๆ แต่ละตัว เสียงก็อาจต่างกันได้ การบัดกรีแต่ละจุด ก็ให้เสียงต่างกัน ถ้าบัดกรีไม่สนิทและใช้ตะกั่วมากไป เสียงก็จะทึบขุ่น ไม่โปร่งใสเท่าจุดที่บัดกรีดีๆ แค่ฉาบเคลือบ (ไม่โปะลูกเดียว) ถ้าใช้หัวเสียบตัวผู้ตัวเมีย เสียงก็มาตกหล่นที่จุดเสียบนี้พอสมควร ฟิวส์ใหญ่ที่ใส่ป้องกันไม่ว่าตัวฟรอนท์ หรือตัวเพาเวอร์แอมป์ เส้นฟิวส์ก็มีผลต่อเสียงและมิติสเตอริโอ ถ้าใส่โดยไม่ฟังทดสอบเสียงก่อน ของดีจริงจะฟ้องการผิดทิศของฟิวส์อย่างชัดเจนจนทำให้เราหลงว่า ของนั้นไม่ดี ขณะที่ของไม่ดี พิกลพิการอยู่จะไม่ขี้ฟ้องมาก ทำให้เราหลงเข้าใจว่า เป็นของดีกว่าตัวแรก บางครั้งอาจมีการแบ่งกลุ่มฟรอนท์ หรือกลุ่มเพาเวอร์แอมป์ เป็นมากกว่า 1 กลุ่ม เช่นฟรอนท์มี 2 กลุ่มเพื่อแยกป้องกันด้วยฟิวส์ใหญ่กลุ่มละ 1 ตัว กลุ่มไหนเจอเส้นฟิวส์ผิดทิศก็ตกนรกไป กลุ่มไหนโชคดี เส้นฟิวส์เขาใส่มาถูกทิศก้ได้ดีไป 3. การที่แต่ละอุปกรณ์ต่อพ่วงใช้ไฟร่วมกัน ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดอยู่ แต่ละอุปกรณ์จะมีผลรบกวนกันเองไปมา ยิ่งถ้าเปิดเครื่องด้วย การรบกวนป่วนกันเองจะยิ่งมีมาก (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแอมป์, ลำโพง ที่ฟังทดสอบด้วย การป่วนอาจฟังยากขึ้น ถ้าสายต่างๆ มั่วกันไปหมด ดังกล่าวไว้ในข้อ 2 แต่มีผลแน่นอน อย่างน่าตกใจด้วย) 4. การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเปรียบเทียบ การติดตั้งตัววิทยุ-CD เอียงหน้าเชิด มิติเสียงจะแย่ลงมาก เสียงจะกลวง, บางขึ้น, ฟุ้งขึ้น, ความเป็นตัวตน (ทรวดทรง) ลดลง เวทีเสียงถอยจมแบน เครื่องที่ดีจริงจะแสดงอาการเหล่านี้เพื่อฟ้องว่า การติดตั้งไม่ถูกต้อง (ที่ถูกต้องอยู่ในแนวราบที่สุด) ขณะที่เครื่องที่จงใจยกเสียงกลางต่ำมากๆ เบสเว่อๆ จะยังคงเหลือ เนื้อเสียงอยู่แม้ติดหน้าเชิด ฟังแล้ว จะเหมือนมีสาระ ตัวตน ดีกว่า เครื่องแรก (แต่ถ้าฟังไปนานๆ จะรู้ว่า ของปลอม และขุ่น, หนาทึบกว่า) อีกทั้ง เครื่องไหนโชคดี อยู่ในตำแหน่งที่ถูกสั่นสะเทือนน้อยกว่า (ไม่ว่าฟรอนท์ หรือ เพาเวอร์แอมป์) เสียงก็จะชัดถ้อยชัดคำ รายละเอียดดีกว่า การสวิงเสียงดัง-ค่อย ถึงใจกว่า สดกว่า 5. สายรีโมทจากฟรอนท์ไปปิด-เปิดปรี หรือเพาเวอร์แอมป์ ก็มีผลมหาศาลต่อเสียง และมิติของเพาเวอร์แอมป์นั้นๆ ทั้งในแง่คุณภาพของสายที่เอามาทำเป็นสายรีโมท และทิศทางการเดินสายรีโมทไปยังแต่ละเครื่อง ไม่มีร้านไหนสนใจที่จะฟังทดสอบทิศทาง และคุณภาพสายรีโมทใดๆ ความแตกต่างนั้นมหาศาล เช่น ถ้าเดินถูก เสียงนุ่ม, หวาน, มีวิญญาณ เป็นดนตรี พอเดินย้อนทิศ เสียงกลับ หยาบคาย เจี๊ยวจ๊าว จัดจ้าน สดเข้มจนเกินงามไปหมด สายรีโมทปรับดัง-ค่อย ที่มีมาให้ต่อเพิ่มได้กับเพาเวอร์แอมป์บางรุ่น (ส่วนใหญ่ขับซับ) มีผลทำให้เสียงและมิติที่ควรจะดี กลับแย่ลง ถ้าร้านต่อไว้เพื่อโชว์ว่าปรับรีโมทได้ ก็จะพลาดฟังของดี กลายเป็นของไม่ดี (จริงๆ สายรีโมทที่มากับแอมป์ไม่ควรใช้เลย ถ้าจะปรับจริงๆ ไปปรับที่ฟรอนท์ก็พอได้ ถ้าเราตั้งเสียงทั้งชุดลงตัวดีแล้ว ไม่ควรไปปรับอีก จะต้องมาหาจุดลงตัวใหม่) 6. การปรับระดับสัญญาณขาเข้าของทั้งปรี (รวมทั้งขาออกของปรี) ของเพาเวอร์แอมป์ก็มีผลต่อ กำลังขับ, สุ้มเสียง, รายละเอียด, การสวิงเสียง, ความเป็นดนตรีอย่างที่เรียกว่า หน้ามือกับหลังมือเลย ปรับไม่ดี ของดีกลายเป็นของเลวได้อย่างหน้าตาเฉย ผมไม่เชื่อว่าจะมีร้านไหนขยันนั่งปรับขาเข้าของแอมป์แต่ละตัวในห้องลองเสียง (เรียกการทำ Level Matching) นี่ยังไม่นับการเดินสายไฟเข้าเพาเวอร์แอมป์ที่ดี-เลวต่างกัน 7. กรณีเปรียบเทียบลำโพงโดยใช้ขับด้วยกำลังขับในตัววิทยุ-CD เอง โดยภาคขยายในตัวเป็น 4CH มีเหมือนกันที่พบว่า สายลำโพงคู่หน้าของวิทยุอาจเดินมาถูกทิศ แต่สายคู่หลังเดินมาย้อนทิศ (จากโรงงาน) หรืออาจกลับกัน หน้าย้อน, หลังถูก ถ้าลำโพง 2 คู่ที่เปรียบเทียบกัน โดยคู่หนึ่งพ่วงจากสายลำโพงคู่หน้า อีกคู่พ่วงจากสายลำโพงคู่หลัง อย่างนี้คู่หลังก็เสร็จ ทั้งๆ ที่อาจดีกว่าคู่หน้า 8. มีเหมือนกันที่แสบที่สุด คือ ผู้นำเข้าบางรายที่ชอบแวะเวียนไปตามร้านติดตั้งที่เป็นลูกค้า แล้วก็จ้างช่างในร้าน “เผา” สินค้าคู่แข่ง โดยทำอย่างไรก็ได้ ไม่ว่าการแกล้งกลับขั้วบวก, ลบสายลำโพงให้ผิดๆ ถูกๆ การปรับขาเข้าเพาเวอร์แอมป์ให้ไม่เหมาะสม การลดจำนวนเส้นลวดทองแดงของสายไฟให้น้อยเส้นลงเวลาต่อเข้าเครื่องคู่แข่ง และอีกสารพัด ซึ่งถ้าเถ้าแก่ร้านไม่เป็นงาน ไม่คุมเอง ไม่หมั่นตรวจตราห้องลอง ปล่อยให้แต่เป็นหน้าที่ช่าง มันก็เสร็จ เสียชื่อ ถ้าลูกค้ารู้ว่าถูกหลอก เสียชื่อแทนที่จะขายของดีจริงให้ลูกค้า ฯลฯ 9. ห้องลองเสียงก้อง ทำให้ฟังแล้วเป็นการยากมากที่จะแยกแยะความแตกต่างระหว่าผลิตภัณฑ์ได้ หรืออาจหลงทางได้ การบุซับเสียงด้วยผ้าม่าน แก้เสียงก้องกลางลงต่ำไม่ได้ ทั้งลดรายละเอียดลง เสียงทึบ ใยแก้วก็เช่นกันและจะหนักกว่าด้วย แผ่นชานอ้อยเจาะรูหรือตัวหนอน เก็บกลางลงต่ำไม่ได้ เก็บได้ในช่วงกลางจริงๆ เท่านั้น ฟองน้ำเช็ดเท้า ลดความก้องแบบคม, สว่าง เป็นก้องแบบทื่อๆ เท่านั้น ฟองน้ำเก็บเสียงที่ทำในนี้ เก็บได้ดีเฉพาะช่วงความถี่แคบๆ บางช่วงเก็บมากจนโบ๋ ทำให้ความถี่เสียงถูกเก็บแบบไม่เสมอพอๆ กัน (เมื่อฟังด้วยหู) ไล่จากความถี่สูงมาต่ำ เสียงจะออกมาทึบแบบอึดอัด เหมือนขาดอากาศในห้อง และถึงขนาดสเตอริโอกลายเป็นโมโนไปเลย! ดีที่สุดคือ ฟองน้ำเก็บเสียง SONEX จากเยอรมัน (โทร. 02-2667200-5 คุณเหมือนแข บริษัท ADR) 10. ถ้าเกิดระบบลองเสียงทำให้ไฟ DC ที่จะไปเลี้ยงเครื่องเสียงไม่ได้ 14 V. และเหลือแค่ 11 V. DC (เคยพบมาแล้ว) ก็จะทำให้การฟังทดสอบและการเปรียบเทียบ ผิดเพี้ยนไปอย่างเหลือเชื่อ ของยิ่งดีแค่ไหน จะยิ่งออกมาเลวแค่นั้น! เป็นอันว่า ครบ 10 ข้อพอดี เท่าที่นึกได้ เป็น 10 ข้อที่หาอ่านที่ไหนไม่ได้ เป็น 10 ข้ออันตราย ถ้าอยู่ในมือพ่อค้าโจร ที่อาจนำไปเป็นเครื่องมือ “เผา” สินค้าคู่แข่ง หรือสินค้าที่ตัวเองไม่ได้รับเป้ามา (ที่รับเป้ามาก็ทำทุกอย่างให้ได้เปรียบมากที่สุด) เป็นดาบ 2 คม จึงควรพิจารณาเลือกร้านติดตั้งให้ดีก่อนตัดสินใจใช้บริการของเขา หมายเหตุ ลำโพงที่เหลืออยู่ในห้องลอง (ไม่ได้ฟัง) ก็มีผลต่อเสียงมหาศาล ทุกคู่จะทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดเสียง ส่งเสียงซ้ำกับลำโพงคู่หลักที่กำลังเปิดฟังอยู่ ทำให้เสียงคลุมเครือขึ้น มั่วขึ้น ถ้ากำลังฟังลำโพงที่เสียงนุ่มกลมกล่อม จะเสียเปรียบลำโพงที่จัดจ้านกว่า กรณีนี้จะทำให้ตำแหน่งการติดตั้ง ลำโพงที่เปิดฟัง มีผลมากกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก www.maitreeav.com |